ธุรกิจค้าปลีกแข่งขันรุนแรง
ผู้เขียน/ผู้วิเคราะห์ : นายวิชัย ปิยพัฒนมงคล
โทร. 0-2208-8995
" บทวิเคราะห์นี้เป็นทรรศนะส่วนตัวของผู้เขียน หากหน่วยงานใดนำไปพิมพ์เผยแพร่ในสื่อใด ๆ โปรดอ้างชื่อผู้เขียน และชื่อรายงานกำกับด้วย"
ธุรกิจค้าปลีกในปี 2547 มีการแข่งขันโน้มรุนแรงขึ้น เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่กระเตื้องขึ้นภายใต้มาตรการต่าง ๆ ที่ภาครัฐได้ออกมากระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโต ทำให้มีการขยายตัวของร้านค้า อีกทั้งผู้บริโภคมีกำลังซื้อมากขึ้น ผู้ประกอบการจึงมองหากลยุทธ์ในการดึงดูดลูกค้าให้มากที่สุด โดยมีปัจจัยต่าง ๆ ที่เป็นแรงสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ได้แก่ :
ปัจจัยดังกล่าวข้างต้นส่งเสริมการบริโภคและอุปโภคของประชาชนมากขึ้น จากการที่มีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น ส่งผลดีต่อธุรกิจค้าปลีกต่าง ๆ
ธุรกิจค้าปลีกมีการแข่งขันรุนแรงใน 4 กลุ่มใหญ่ คือ ดิสเคาน์สโตร์ ห้างสรรพสินค้า คอนวิเนี่ยนสโตร์ และซูเปอร์มาร์เก็ต โดยดิสเคาน์สโตร์มีการแข่งขันสูงที่สุดและมีบทบาทมากที่สุดต่อธุรกิจค้าปลีก แต่อย่างไรก็ดี กลุ่มที่ผู้บริโภคเข้าไปซื้อของจำนวนมากจะเป็นกลุ่มคอนวิเนี่ยนสโตร์และร้านโชวห่วย โดยเฉพาะร้านเซเว่นอีเลฟเว่น ด้วยจุดเด่นในด้านความสะดวกรวดเร็ว มีสาขาจำนวนมาก ตั้งอยู่ใกล้แหล่งชุมชนต่าง ๆ สำหรับกลุ่มที่มีบทบาทน้อยที่สุด คือ กลุ่มซูเปอร์มาร์เก็ต ซึ่งผู้บริโภคที่เข้าไปใช้บริการมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากกลุ่มดิสเคาน์สโตร์ได้เข้ามาแย่งส่วนแบ่งครองตลาดไป
ดิสเคาน์สโตร์
ธุรกิจดิสเคาน์สโตร์ยังมีการแข่งขันที่รุนแรง แม้มีการบังคับใช้กฎหมายผังเมืองที่มีความเข้มงวดขึ้น แต่ผู้ประกอบการต่างหลีกเลี่ยงกฎหมายด้วยการลดขนาดพื้นที่ในการดำเนินธุรกิจ เหลือเพียงประมาณ 300 400 ตารางเมตร เช่น เทสโก้โลตัส เปิดตัวร้านเทสโก้โลตัสเอ็กเพรส บิ๊กซี เปิดร้านลีดเดอร์ไพรซ์ ซึ่งจะเป็นรูปแบบที่ผู้ประกอบการใช้ในการแข่งขันเพื่อขยายสาขาต่อไป
ในปี 2547 คาดว่าตลาดดิสเคาน์สโตร์ยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ตามภาวะเศรษฐกิจของประเทศที่มีแนวโน้มดีขึ้น โดยมีผู้ประกอบการรายใหญ่จำนวน 4 ราย คือ เทสโก้โลตัส บิ๊กซี คาร์ฟูร์ และแม็คโคร มีแผนการณ์จะขยายสาขาเพิ่มทุกรูปแบบมากกว่า 100 สาขาทั่วประเทศ โดยมุ่งเน้นการขยายสาขาไปยังจังหวัดขนาดกลางและขนาดเล็กที่มีกำลังซื้อสูง และเน้นการขยายสาขาในรูปแบบใหม่ที่มีขนาดเล็กลง และใกล้แหล่งชุมชน เพื่อหวังดึงดูดลูกค้าที่มีหลายระดับให้เข้ามาใช้บริการมากขึ้นและ เป็นการเพิ่มส่วนแบ่งครองตลาดให้ได้มากที่สุด สำหรับกลยุทธ์ด้านการตลาดยังคงใช้การลดราคาเป็นตัวดึงดูดลูกค้า นำเอาสินค้าที่มีความจำเป็นในชีวิตประจำวันมาลดราคา จนกลายเป็นนโยบายหลักที่จะดำเนินการตลอดไป มิใช่เป็นเพียงกิจกรรมส่งเสริมการขายประจำเดือนที่จัดเป็นช่วง ๆ ปัจจัยสนับสนุนการขยายตัวของธุรกิจ ได้แก่ กำลังซื้อของประชาชนที่เพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของรายได้ อัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำ อัตราดอกเบี้ยต่ำเอื้อต่อการลงทุน รวมทั้งมาตรการต่าง ๆ ที่ภาครัฐได้ส่งเสริมสินเชื่อเพื่อการอุปโภคและบริโภค ตลอดจน GDP ในปี 2547 ที่รัฐได้ตั้งเป้าหมายขยายตัวร้อยละ 7.5
ห้างสรรพสินค้า
ธุรกิจห้างสรรพสินค้ายังคงมีการแข่งขันที่รุนแรง ถึงแม้ว่าจะชะลอการเปิดสาขาใหม่ โดยแต่ละแห่งต่างเร่งปรับตัวด้วยการสร้างเอกลักษณ์และชูจุดเด่นของตนเองมากขึ้น เช่น ด้านความทันสมัย ความโอ่อ่าของสถานที่ ความโดดเด่นและความแปลกใหม่ของสินค้า เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย ซึ่งได้วางตำแหน่งทางการตลาดของตนเองให้แตกต่างจากกลุ่มดิสเคาน์สโตร์ จึงทำให้ห้างสรรพสินค้าชั้นนำต่างต้องปรับปรุงพื้นที่และตกแต่งสถานที่ใหม่ รวมทั้งปรับปรุงในส่วนของการบันเทิง เพื่อดึงดูดลูกค้าและเพิ่มยอดขาย
ในปี 2547 แม้การขยายสาขาของห้างสรรพสินค้าจะมีน้อยลง แต่อัตราการเติบโตของยอดขายกลับมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามอัตราการขยายตัวทาง เศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ดี อันเป็นผลมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่มีการส่งเสริมการท่องเที่ยว ในรูปแบบต่าง ๆ ความพยายามในการส่งเสริมอุตสาหกรรมด้านแฟชั่น ซึ่งรัฐบาลได้กำหนดให้ปี 2547 เป็นปีท่องเที่ยวและกีฬา ในขณะเดียวกันช่วงปี 2547 ต่อเนื่องปี 2548 จะมีการแข่งขันของห้างสรรพสินค้าชั้นนำ เปิดใหม่ 2 แห่ง คือ เซ็นทรัล เวิลด์พลาซ่า (เวิลด์เทรดเซ็นเตอร์เดิม) และศูนย์การค้าสยามพารากอน โครงการยูเนี่ยน มอลล์ ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่างเดอะมอลล์กับสยามเซ็นเตอร์ จะทำให้อุณหภูมิการแข่งขันสูงขึ้นอีก
ซูเปอร์มาร์เก็ต
ซูเปอร์มาร์เก็ตมีการแข่งขันสูง เพราะนอกจากต้องแข่งขันด้วยกันเองแล้ว ยังต้องแข่งกับกิจการค้าปลีกอื่น ๆ อีก โดยเฉพาะดิสเคาน์สโตร์ที่เร่งขยายสาขา เพื่อชิงความได้เปรียบในธุรกิจค้าปลีกในช่วงภาวะเศรษฐกิจขยายตัว แต่ซูเปอร์มาร์เก็ตไม่เน้นการขยายสาขาโดยยังคงใช้นโยบายการปรับปรุงสาขา และหันมาเร่งปรับตัวทั้งในเรื่องอุปกรณ์ การวางระบบ และการคัดเลือกผลิตภัณฑ์ที่วางจำหน่ายให้ทันสมัยอยู่ตลอดเวลา เพื่อเป็นการดึงดูดลูกค้าและสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ทั้ง ประเภทสินค้าและบริการ ซึ่งในปัจจุบันได้หันมาเน้นในเรื่องของความปลอดภัยด้านอาหาร (Food Safety) เป็นภารกิจที่สำคัญอันดับหนึ่ง เพื่อสนับสนุนโครงการอาหารปลอดภัยของกระทรวงสาธารณสุขที่หวังให้ประชาชนมีสุขภาพดี ถ้วนหน้า และยังคงสร้างกิจกรรมต่าง ๆ ตลอดจนการส่งเสริมการขายทุกรูปแบบ
ปี 2547 คาดว่าตลาดซูเปอร์มาร์เก็ตจะขยายตัวอย่างต่อเนื่องและมีการแข่งขันสูง โดยผู้ประกอบการรายใหญ่มีแผนการขยายสาขาเพิ่มขึ้นอีกไม่ต่ำกว่า 4 สาขา และที่สำคัญการที่กลุ่มเซ็นทรัล ซื้อหุ้นท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต ทั้งหมดคืนจาก กลุ่มซีอาร์ซี จะทำให้ตลาดมีความคึกคักมากขึ้น โดยในปีนี้ส่วนใหญ่ได้เน้นในเรื่องคุณภาพและความหลากหลายของสินค้า ตามพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญเรื่องสุขภาพมากขึ้น ก่อให้เกิดโอกาสทางการตลาดที่จะเพิ่มจำนวนลูกค้ามากขึ้น
คอนวิเนี่ยนสโตร์
ธุรกิจคอนวิเนี่ยนสโตร์ยังคงมีเซเว่นอีเลฟเว่นเป็นผู้นำตลาดด้วยสาขามากว่า 2,300 แห่ง ครอบคลุมแทบทุกพื้นที่ โดยมี วี.ช็อป เฟรชมาร์ท แฟมิลี่มาร์ท เออาร์ที และ108 ช็อป เป็นกลุ่มที่แทรกเข้ามาในตลาดและมีสัดส่วนเล็กน้อย การแข่งขันสูง มีการทำตลาดรูปแบบต่าง ๆ เพื่อเพิ่มรายได้และเพิ่มสัดส่วนในการครองตลาด เช่น บริการรับชำระค่าสาธารณูปโภคต่าง ๆ ค่าประกันภัย ค่าเช่าซื้อสินค้า และปัจจุบันมีการเพิ่มสินค้าประเภทบันเทิง เช่น เทป ซีดี วารสารต่าง ๆ เห็นได้จากร้านเซเว่นอีเลฟเว่น เปิดเป็นร้านหนังสือ ใช้ชื่อว่า ร้านหนังสือ สื่อบันเทิง (Book smile)
แนวโน้มสินค้าของร้านสะดวกซื้อนั้น ผู้ประกอบการรายใหญ่ได้หันมาให้ความสำคัญกับอาหารมาก โดยมีสัดส่วนเป็นอาหารร้อยละ 70 และไม่ใช่อาหารร้อยละ 30 การที่เพิ่มส่วนอาหารมากขึ้น เนื่องจากมีกำไรข้างต้น (margin) มากกว่าร้อยละ 25 และยังสามารถเพิ่มเมนูอาหารให้แตกต่างจากคู่แข่งได้ด้วย ในขณะที่สินค้าที่ไม่ใช่อาหารมี Margin เฉลี่ยร้อยละ 10
ปี 2547 คาดว่ามูลค่าตลาดจะขยายตัวต่อเนื่องและมีการแข่งขันรุนแรงมากขึ้น โดยเซเว่นอีเลฟเว่น วางแผนจะขยายสาขาไปยังต่างประเทศ ได้แก่ เซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน และที่เวียดนาม ประกอบกับมีโครงการจะเปิดโรงเรียนสอนด้านการค้าปลีก เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนบุคลากรค้าปลีก นอกจากนี้ วี.ช็อป และเฟรชมาร์ท เตรียมแผนที่จะจดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์ หลังจากที่เซเว่นอีเลฟเว่นได้จดทะเบียนแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนจำกัด ก่อนหน้านี้แล้ว
พันธมิตรการค้า
สำหรับการแข่งขันที่รุนแรงของธุรกิจค้าปลีกในปัจจุบัน ทำให้ผู้ประกอบการต่างเร่งหากลยุทธ์ในการสร้างความได้เปรียบ เพื่อเพิ่มรายได้และสัดส่วนในการครองตลาด นำไปสู่การมีกำไร ซึ่งกลยุทธ์หนึ่งที่นิยมนำมาใช้สร้างสีสันและพลิกสถานการณ์ก็คือ การร่วมเป็นพันธมิตร ซึ่งจะเป็นแนวทางหลักในการสร้างความแข็งแกร่งในแง่ของการค้าและสร้างความได้เปรียบคู่แข่งขัน โดยเฉพาะการเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับซัพพลายเออร์ หรือการลงทุนร่วมกัน หรือการจัดโปรโมชั่นในช่วงเทศกาล เช่น
- ท็อปส์กับบู๊ทส์ ร่วมมือกับบรรดาค้าปลีก เพื่อใช้พื้นที่ในการเปิดบูทขายแบบถาวรและชั่วคราว
- การร่วมมือของร้านวี.ช็อป กับชายสี่บะหมี่เกี๊ยว เพื่อเป็นโปรโมชั่นให้กับผู้ซื้อ แฟรนไชส์ร้านวี.ช็อป
- เซเว่นอีเลฟเว่น ใช้การขยายสาขาเพิ่มด้วยตัวเองและการมุ่งเน้นการขายแฟรนไชส์ควบคู่กันไปด้วย ทั้งยังได้ร่วมมือกับพันธมิตรหรือซัพพลายเออร์ในการสร้างความโดดเด่นให้กับเซเว่นอีเลฟเว่น
- แม็คโครร่วมมือกับค่ายเนสท์เล่ในการส่งเสริมให้ประชาชนมีอาชีพ โดยทำเป็นร้านหรือรถเข็นขายสินค้าเครื่องดื่มในเครือของเนสท์เล่
ตารางที่ 1 สรุปผลการประมาณการเศรษฐกิจไทย ปี 2546-2547
สรุปผลการประมาณการเศรษฐกิจไทย | ปี 2546 | ปี 2547 |
อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ( % yoy ) | 6.4 | 7.5 |
การบริโภคภาคเอกชนที่แท้จริง | 6.2 | 6.5 |
การลงทุนภาคเอกชนที่แท้จริง | 19.0 | 19.3 |
การบริโภคภาครัฐบาลที่แท้จริง | 0.4 | 5.4 |
การลงทุนภาครัฐบาลที่แท้จริง | -9.9 | 1.7 |
ปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการ | 5.4 | 6.7 |
ปริมาณการนำเข้าสินค้าและบริการ | 5.3 | 7.9 |
ดุลการค้า (ฺ Bill. USD) | 4.5 | 3.7 |
ดุลบัญชีเดินสะพัด ( Bill. USD) | 8.3 | 7.1 |
ดุลบัญชีเดินสะพัด ( % ของ GDP) | 5.8 | 4.3 |
เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ (ฺ Bill. USD) | 41.3 | 48.5 |
อัตราเงินเฟ้อ ( % yoy) | 2.0 | 2.6 |
ตารางที่ 2 จำนวนสาขาของผู้ประกอบการค้าปลีก
จำนวนสาขา (แห่ง) | ปี 2545 | ปี 2546 | แผนขยายสาขา ปี 2547 |
คอนวิเนี่ยนสโตร์ | ![]() |
![]() |
![]() |
เซเว่นอีเลฟเว่น | 2,042 | 2,500 | 500 |
แฟมิลี่มาร์ท | 246 | 300 | ไม่กำหนด |
เฟรชมาร์ท | 117 | 200 | 150 |
วี.ช็อป | 232 | 500 | 500 |
ดิสเคาน์สโตร์ | ![]() |
![]() |
![]() |
เทสโก้โลตัส | 56 | 59 | 52 |
แม็คโคร | 21 | 21 | 3 |
บิ๊กซี | 34 | 36 | 18 |
คาร์ฟูร์ | 17 | 18 | 2 |
ซูเปอร์มาร์เก็ต | ![]() |
![]() |
![]() |
ท็อปส์ | 48 | 47 | 2 |
ฟู้ดแลนด์ | 8 | 9 | ไม่กำหนด |
ฟู้ดไลอ้อน | 32 | 40 | 2 |
วิลล่า | 8 | 8 | ไม่กำหนด |
จัสโก้ | 10 | 10 | ไม่กำหนด |
ห้างสรรพสินค้า | ![]() |
![]() |
![]() |
เซ็นทรัล | 13 | 13 | 1 |
เดอะมอลล์ | 6 | 6 | 1 |
โรบินสัน | 18 | 18 | ไม่กำหนด |
ที่มา : รวบรวมโดยสำนักงานวิจัยธุรกิจ บมจ.ธนาคารกรุงไทย